สุขภาพ

img

บ้าน: ป้อมปราการ ต้านโควิด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกมาตรการ “Home Isolation” หรือกักตัวที่บ้าน เพื่อช่วยลดความแออัด และแก้ปัญหาเตียงเต็มในโรงพยาบาล

 โดยทีมแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยสามารถกักตัวที่บ้านได้หรือไม่ โดยมีเงื่อนไขประกอบด้วย เป็นผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ มีสุขภาพร่างกายแข็ง ผ่านการประเมินปัจจัยแวดล้อม เช่น มีห้องนอน ห้องน้ำ ที่แยกการใช้งานจากคนอื่นในบ้าน อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อทั้งของผู้ป่วยและผู้สัมผัสใกล้ชิดเช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ ฯลฯ ทั้งนี้ หากมีโรคประจำตัว ต้องเป็นผู้ที่มีอาการคงที่สามารถควบคุมโรคได้ ไม่มีภาวะอ้วน ไม่ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยผู้ป่วยจะต้องยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลได้ดี ดูแลตนเองได้ และเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก

 ผู้ที่สามารถกักตัวที่บ้าน ในกรณี Home Isolation จะได้รับปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจน โดยทีมแพทย์จะให้คำปรึกษา สอบถามอาการผ่านโทรศัพท์วันละ 1 ครั้ง หากผู้ป่วยไม่มีอาการ แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟ้าทลายโจร แต่ถ้าเริ่มมีอาการ หรือมีโรคประจำตัวที่สามารถควบคุมได้ แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ โดยจัดส่งยาถึงที่บ้าน นอกจากนี้ โรงพยาบาลจะส่งอาหารให้ผู้ป่วยที่บ้าน 3 มื้อ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ทางโรงพยาบาลจะเบิกจ่ายกับ สปสช. โดยเป็นค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยรวมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน

 ข้อปฏิบัติของผู้ป่วยโควิด-19 ที่กักตัวที่บ้าน มีดังนี้

  1. ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมที่บ้าน
  2. ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด รักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  3. แยกห้องพักและของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องตนเอง
  5. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องพัก
  6. ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่น หรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น
  7. แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ

ผู้ป่วยอาจเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำสะอาดอุ่นเล็กน้อยเป็นระยะ โดยการเช็ดแขนขาย้อนเข้าหาลำตัว เน้นการ เช็ดตัวลดไข้บริเวณหน้าผาก ซอกรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขนขา และใช้ผ้าห่มปิดหน้าอกระหว่างเช็ดแขนขา เพื่อไม่ให้หนาวเย็นจนเกินไป หากผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่นต้องหยุดเช็ดตัวและห่มผ้า ให้อบอุ่นทันที นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็นจัด หากต้องการปรุงอาหารหรือซื้ออาหารมาทานเอง ควรเลือกอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ให้พอเพียง และควรนอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก

ที่สำคัญผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการแย่ลง เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ให้การรักษา การเดินทางไปโรงพยาบาลควรใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้รถสาธารณะ พร้อมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ

อัลบั้มภาพ