สุขภาพ

img

สารเคมีรั่วไหล อันตรายถึงชีวิต

ในปัจจุบัน สารเคมีได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งชนิดของสารเคมีและปริมาณที่ผลิตขึ้นมา สารเคมีได้มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรม และการแพทย์นอกจากนี้สารเคมียังมีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน สารเคมีนอกจากจะมีคุณประโยชน์อย่างมหาศาลแล้วอาจเป็นโทษอย่างมหันต์ ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือโรคต่างๆแก่ผู้เกี่ยวข้อง หรืออาจจะก่อให้เกิดอุบัติภัยที่รุนแรงได้                                                

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประเทศที่พัฒนาแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารที่อยู่ในองค์กรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมมีเกณฑ์อายุโดยเฉลี่ยสั้นกว่าบุคคลที่ปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพอื่น โดยในบั้นปลายของชีวิตส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทำให้เกิดภาระต่อตนเองและครอบครัวอย่างมาก เนื่องจากอาชีพเหล่านี้มีโอกาสสัมผัสสารเคมีโดยตรงหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารเคมี ร่างกายรับเอาสารเคมีเข้าไปสะสมโดยตรง จากงานในหน้าที่ที่ทำอยู่ในห้องปฏิบัติการบุคลากรเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในทุกประเทศ ดังนั้นในแต่ละประเทศจึงพยายามเผยแพร่ความรู้ด้านอันตรายของสารเคมีให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องของสารเคมี ความหมายของป้ายกำกับสารเคมีอันตราย และวิธีป้องกันอันตรายจากสารเคมี เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนสามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปกู้ภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุสารเคมีอันตราย

สารเคมีอันตราย สารอันตราย หมายถึงธาตุ หรือสารประกอบที่มีคุณสมบัติเป็นพิษหรือเป็น อันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และทำให้ทรัพย์สินและ สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม การแบ่งประเภทของสารเคมีอันตราย สำหรับประเทศไทยยึดระบบขององค์การสหประชาชาติที่ใช้อยู่แล้วกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก (Internal Classification System) ซึ่งแบ่งสารเคมีอันตรายออกเป็น 9 ประเภท โดยแต่ละประเภทจะมีป้ายสัญลักษณ์ความเป็นอันตรายให้เห็นโดยชัดเจน ซึ่งเป็นเครื่องหมายสากล ติดบนภาชนะบรรจุ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอุบัติเหตุจากสารเคมีและครอบคลุมไปถึงการผลิต การจัดเก็บ การขนส่งและการระวังอันตรายไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตทรัพย์สินรวมถึงสิ่งแวดล้อม

การเข้าสู่ร่างกาย สารเคมีสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 4 ทาง

  1. การหายใจ เป็นการเข้าสู่ร่างกายที่สำคัญของสารเคมีที่อยู่ในรูปของไอระเหย ก๊าซละออง หรืออนุภาคขนาดเล็ก สารเคมีจะผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ อาจทำลายระบบทางเดินหายใจ เข้าสู่ปอด และบางส่วนไหลเข้าสู่กระแสเลือด ผ่านเข้าสู่สมองอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะไปทำความระคายเคืองตามเยื่อบุอวัยวะต่าง ๆของร่างกาย เป็นอันตรายต่ออวัยวะส่วนนั้นๆ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
  2. ดูดซึมผ่านผิวหนัง (หรือตา) โดยตรง สารเคมีจะถูกดูดซึมเข้าทางผิวหนัง ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีพวกสารอินทรีย์ ตัวทำละลายต่างๆ เป็นอันตรายต่อผิวหนัง ทำให้เกิดการแพ้ ผื่นคัน หรือทำลาย โครงสร้างของผิว เมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำลายอวัยวะหรือระบบต่างๆ ภายในร่างกายขั้นรุนแรง และอาจตายได้
  3. การกิน สารเคมีจะปะปนไปกับอาหารและเครื่องดื่ม หากสารที่กินเข้าไปมีฤทธิ์กัดกร่อนจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารสารเคมีที่ไม่ละลายในของเหลวในทางเดินอาหารจะถูกกำจัดทิ้งโดยผ่านสำไสใหญ่ ส่วนสารเคมีที่ละลายได้ จะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร เข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะภายใน ความเป็นพิษขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารเคมีที่กินเข้าไป
  4. การฉีด สารเคมีอาจเข้าสู่ร่างกายได้ถ้าผิวหนังถูกแทงหรือทำให้ฉีดขาดด้วยวัตถุที่ปนเปื้อนผลกระทบเกิดขึ้นเมื่อสารนั้นเข้าสู่กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะเป้าหมาย

เมื่อร่างกายได้รับสารเคมีอันตรายจะเกิดอาการซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบ

  1. อาการแบบเฉียบพลัน (ACUTE) เป็นการสัมผัสที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น หนึ่งนาทีเกิดขึ้น ได้แก่ เกิดผลผื่นคันระคายเคือง ผิวหนังไหม้ อักแสบ ขาดอากาศ หน้ามืด วิงเวียน
  2. อาการแบบเรื้อรัง เป็นการสัมผัสสารที่ระดับค่อนข้างต่ำในระยะเวลานานตั้งแต่เป็นเดือนถึงเป็นปี อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ การเกิดความพิการในทารก (Teratogenic) การเกิดความผิดปกติทางสารพันธุ์ในตัวอ่อน หรือการผ่าเหล่า (Mutagenic) การผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น การเปลี่ยนแปลงของ DNA การเกิดมะเร็ง (Carcinogenic)

โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อได้รับพิษร่างกายของมนุษย์จะมีขบวนการทำลายพิษให้น้อยลงและพยายามขับสารนั้นออกทาง เหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ นำลาย ลมหายใจ แต่หากได้รับสารพิษมากเกินไปจะเกิดการสะสม และก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทั้งในลักษณะเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ดังนี้

  1. ผลต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นทางผ่านของก๊าซไอระเหย ฝุ่นละอองของสารพิษทำให้เกิดความเคืองต่อระบบทางเดินหายใจในส่วนต้น ทำลายเนื้อเยื่อปอด เกิดการแพ้สาร หรือเกิดมะเร็งหากสัมผัสสารอย่างต่อเนื่องซ้ำๆ เป็นเวลานาน เช่น มะเร็งปอด มะเร็งโพรงจมูก เป็นต้น
  2. ผลต่อผิวหนัง เกิดอาการระคายเคืองขั้นต้นเกิดการแพ้แสง ทำลายผิวหนังอย่างถาวร เกิดมะเร็งผิวหนัง
  3. ผลต่อตาเกิดอาการระคายเคือง แสบตา เยื่อบุตาอักแสบ ตาพร่ามัว น้ำตาไหลและอาจตาบอดได้ หากได้รับสารในปริมาณมาก
  4. ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง สารเคมีทำให้ขาดออกซิเจนในเลือด มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาท เช่น ตาพร่ามัว กระสับกระส่ายกล้ามเนื้อสั่น ชัก กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกันและการรับความรู้สึกผิดปกติ
  5. ผลต่ออวัยวะภายใน

ตับ : ทำให้เซลล์ตาย (แบบเฉียบพลัน) ถ้าได้รับสารระดับต่ำและสะสมจะทำให้ตับแข็ง หรือเป็นมะเร็งตับ (แบบเรื้อรัง) สารที่เป็นพิษต่อตับ เช่น คาร์บอนเตตระคลอไรด์คลอโรฟอร์ม

ไต : ไตถูกทำลาย สารเคมีที่เป็นพิษต่อไต เช่น โลหะหนัก คาร์บอนไดซัลไฟด์

เลือด : กระทบต่อระบบการสร้างเม็ดเลือด (ไขกระดูก) องค์ประกอบของเลือด (เกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว) หรือความสามารถในการขนส่งออกซิเจนของเซลล์เม็ดเลือด สารที่เป็นพิษต่อเลือด เช่น เบนซินกัมมันตรังสี

ม้าม : สารเคมีที่มีพิษต่อม้าม เช่น คลอโรฟีน ไนโตรเบนซิน

ระบบสืบพันธุ์ :  ทำให้เป็นหมัน อสุจิผิดปกติ มีจำนวนอสุจิน้อย ระบบฮอร์โมน ทำงานผิดปกติ สารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ เช่น โลหะหนักไดออกซิน

อันตรายในส่วนที่ออกฤทธิ์โดยเฉียบพลันนั้นแม้จะร้ายแรง แต่โดยปกติจะไม่เป็นปัญหาใหญ่เพราะคนทั่วไปจะตระหนักถึงอันตราย มีความระมัดระวัง และป้องกัน แต่ที่น่ากลัวคือ ชนิดที่สะสมแล้วไปก่อให้เกิดปัญหาในบั้นปลายของชีวิตซึ่งเป็นภาระกับตนเองและครอบครัว เป็นอย่างมากซึ่ง ผู้ที่เกี่ยวข้องควรตระหนัก ศึกษาถึงสารเคมีชนิดต่างๆ อย่างถ่องแท้

อัลบั้มภาพ