รวมพลังสร้างเครือข่าย ใส่ใจดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มรูปแบบและรอบด้าน เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เป็นกำลังหลักในการดูแลประชาชนในชุมชนซึ่งจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ภาระงานของอสม.ที่ต้องทำงานหลากหลายด้านมากขึ้นและมีปริมาณที่มากขึ้นอย่างมาก ดังนั้นการเพิ่มกำลังคนจากภายนอกระบบสาธารณสุขในปัจจุบันเข้าสู่ระบบจึงเป็นวิธีการที่จะขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ เพื่อรองรับการขยายงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ การสร้างกลุ่มช่วยเหลือผู้ป่วยที่ผ่านการคัดเลือกและเสริมสมรรถนะ โดยได้รับคัดเลือกมาจากประชาชนในชุมชนที่มีศักยภาพ ถือเป็นรูปแบบดังกล่าวยังไม่เคยมีการดำเนินการและผลลัพธ์ที่ชัดเจน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เทศบาลตำบลหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกันริเริ่มโครงการพัฒนารูปแบบบริการปฐมภูมิสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยใช้นวัตกรรมเครือข่ายผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่บ้าน หรือ วินแคร์ (WinCare) ขึ้น ตามแนวคิดดังกล่าว มีอาสาสมัครผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเข้าร่วมโครงการ รวมจำนวนทั้งสิ้น 98 คน โดยเป็นกลุ่มควบคุมจำนวน 46 คน และ กลุ่มทดลองที่ได้รับการดูแลจากเครือข่ายวินแคร์ 52 คน
โดยเริ่มจากกลุ่มผู้ที่มีแนวโน้มอาชีพที่สอดคล้องต่อการเป็นผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่บ้านที่มียานพาหนะเป็นของตนเองเช่นกลุ่มผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ ผู้ให้บริการรถรับจ้างสาธารณะ เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่ต้องการการทำงานนอกเวลา เป็นต้น และจัดการอบรมเตรียมความพร้อมให้กับเครือข่ายผู้ดูแล โดยให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ และ อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคติดต่อเรื้อรังและผู้สูงอายุ มีการฝึกปฏิบัติ ได้แก่ การวัดความดันโลหิตด้วยเครื่องอัตโนมัติ การชั่งน้ำหนัก และการวัดเส้นรอบเอว โดยเน้นให้ผู้ดูแลทุกคนได้ทดลองปฏิบัติจริง เพื่อความถูกต้องแม่นยำทั้งการวัดและการอ่านค่าบันทึกผล และจะต้องผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ
จากนั้น ผู้ดูแลจะได้รับการอบรมการใช้โมบายแอพลิเคชั่น วินแคร์ ทั้งในส่วนของการบันทึกข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วย การให้ความรู้ผ่านแอพลิเคชั่น รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ป่วย เครือข่ายผู้ดูแล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และการจัดกลุ่มของเครือข่ายผู้ดูแล โดยมีแนวทางการจัดเป็นกลุ่มย่อย 2-3 คน ร่วมกันดูแล ประกอบด้วย ผู้ดูแลวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีความกระตือรือร้น ผู้ดูแลวัยกลางคนที่มีความถนัดในการสื่อสารพูดคุยกับผู้ป่วย และผู้ดูแลที่สามารถกลมกลืนแก้ปัญหาได้ในแต่ละสถานการณ์ ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายผู้ดูแล 2-3 คนจะดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังประมาณ 4-6 คน ซึ่งการจับคู่ระหว่างเครือข่ายผู้ดูแลและผู้ป่วยนั้นจะพิจารณาจากที่อยู่อาศัยในพื้นที่และความคุ้นเคยกัน เนื่องจากทั้งสองกลุ่มเป็นประชาชนในชุมชนเดียวกัน เพื่อความสะดวก ความคุ้นเคย รวมถึงสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งจะทำให้การดูแลช่วยเหลือเป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น
ผลลัพธ์การจากดำเนินโครงการดังกล่าว พบว่า ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ได้รับบริการจากเครือข่ายวินแคร์ มีระดับความดันโลหิตที่ลดต่ำลง รวมถึงมีค่าคะแนนคุณภาพชีวิต และค่าสภาวะสุขภาพที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการจากเครือข่ายวินแคร์ ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาบุคลากรนอกระบบบริการสาธารณสุข ที่สามารถให้บริการดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจแก่ผู้ป่วย เป็นการสร้างสัมพันธภาพของครอบครัวใหม่ในชุมชน ด้วยมุมมองของผู้ป่วยต่อผู้ดูแลที่อาจเปลี่ยนแปลงไปเสมือนลูกหลาน ญาติมิตร คนใกล้ชิด ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดียิ่งขึ้น และชุมชนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น