อันตราย! สไตรีนโมโนเมอร์
สไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยางสังเคราะห์ และพลาสติก เรซิน สี ฉนวนที่เป็นโฟม จึงใช้ในการทำกระเป๋าแบบแข็ง ชิ้นส่วนรถยนต์ ของใช้ในบ้าน และบรรจุภัณฑ์ สไตรีนโมโนเมอร์มีลักษณะเป็นของเหลว ใส และข้นเหนียว ติดไฟง่ายโดยเมื่ออุณหภูมิ 31°C (88°F) ขึ้นไป จะติดไฟและกลายเป็นสารอินทรีย์ ระเหยง่าย หากถูกเผาไหม้จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งหากจำนวนมากมีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ จึงเป็นสารเคมีถูกจัดให้อยู่ในวัตถุอันตรายประเภทที่ 2 ของเหลวไวไฟ ตามประกาศมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเรื่อง การขนส่งวัตถุอันตรายทางบก พ.ศ. 2545
ในด้านพิษวิทยา อันตรายของสไตรีนโมโนเมอร์ต่อร่างกาย อาจแบ่งความเป็นพิษ 2 ลักษณะคือ พิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง ดังนี้
พิษเฉียบพลัน
เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เกิดการระคายเคือง
-เมื่อเข้าตา จะส่งผลให้ตาเกิดการระคายเคือ
- เมื่อหายใจหรือสูดดม จะทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้ไอและหายใจลำบาก เมื่อดูดซึมจนถึงระดับที่ก่อให้เกิดพิษ จะทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม
- เมื่อกลืนกิน จะทำให้ระคายเคือง เป็นแผลไหม้ที่ปากและกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ปวดท้อง ปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียน และเซื่องซึม
พิษเรื้อรัง
- ทำให้เกิดความผิดปกติของโครโมโซมในคน
- อาจทำให้เกิดมะเร็งในคนและสัตว์
- เพิ่มการแท้งในสตรีมีครรภ์ที่สัมผัสกับสารนี้
- ทำให้ระดับฮอร์โมนผิดปกติ โดยเฉพาะการทำงานของต่อมไทรอยด์และการมีประจำเดือนผิดปกติ รวมถึงมีผลต่อฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์
- ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ต่อมน้ำเหลืองผิดปกติ มีผลต่อระบบประสาท ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ผู้สัมผัสสไตรีนโมโนเมอร์ ควรปฏิบัติดังนี้
- นำผู้ประสบภัยไปยังสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์
- ถ้าผู้ประสบภัยหยุดหายใจให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ
- ถ้าผู้ประสบภัยหายใจลำบาก ให้ใช้เครื่องให้ออกซินเจน
- ถอดเสื้อผ้าและรองเท้าที่มีการปนเปื้อนออกทันที
- หากสัมผัสกับสารนี้ ให้ล้างออกด้วยน้ำ หรือเมื่อเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดไหลผ่านอย่างน้อย 15 - 20 นาที
- กรณีไฟไหม้ผิวหนัง รีบทำให้เย็นทันทีเท่าที่ทำได้ด้วยน้ำเย็น ไม่ถอดเสื้อผ้าออกถ้าเสื้อผ้าติดผิวหนัง
- รักษาร่างกายผู้ประสบภัยให้อบอุ่น และนำส่งแพทย์
ที่มา : กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ ในบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด จังหวัด สมุทรปราการ ระเบิด เกิดเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้ออกข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณภัยพิบัติสารเคมีโรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้ว ดังนี้
สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ขอออกแนวทางในการปฏิบัติตัวสำหรับผู้เผชิญเหตุในช่วงเฉียบพลัน จากเหตุการณ์สารพิษ สไตรีน ดังนี้
สำหรับผู้เผชิญเหตุ
1.อันตรายที่เกิดขึ้นนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นกับการสัมผัส โดยขึ้นกับความรุนแรงของสารเคมี ขนาดของสารเคมี คือ ใกล้แหล่งสารเคมีมากขนาดใด และระยะเวลาการสัมผัสคือ ระยะเวลาที่ทำงานในบริเวณนั้น รวมถึงการป้องกันตนเองโดยเครื่องป้องกันอันตรายได้แก่ หน้ากากป้องกันทางเดินหายใจ เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่ทำงานใกล้จุดเกิดเหตุ จะได้รับควันพิษขนาดมาก โดยเฉพาะไม่ใส่เครื่องป้องกันตนเองที่เหมาะสมและทำงานเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น ควรใส่เสื้อผ้ามิดชิด ใส่หน้ากากที่มีไส้กรองสารเคมี หรืออย่างน้อยที่สุดชนิด N95
2.ไม่ควรเป็นผู้ที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดชนิดอื่นๆ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบหรือวัณโรคปอด โรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
3.ถ้ามีอาการหอบ แน่นหน้าอก ไอ เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย มึนงงศีรษะมากคันตามตัวมาก แสบตา แสบคอมาก ควรปรึกษาแพทย์
4.อาการของกลุ่มอาการพิษสไตรีนคือ ปวด มึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ เกิดจากการได้รับสารพิษเป็นจำนวนมาก
5.ม่ควรรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำในบริเวณปฏิบัติงาน หลังเข้าทำงานในพื้นที่ไฟไหม้ ควรเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดตัวเองให้เรียบร้อยก่อนพบปะกับสมาชิกครอบครัว
6.เมื่อเสร็จภารกิจ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายตามความเสี่ยงที่พบและติดตามตรวจร่างกายเป็นระยะ ตามที่แพทย์กำหนด
ถ้ามีอาการดังกล่าวและกลับไปอยู่ภูมิลำเนา ให้บอกแพทย์ที่ตรวจด้วยว่ามีการสัมผัสสารพิษด้วย สำหรับพิษเรื้อรัง ถ้ามีอาการผิดปกติ และสงสัยว่าอาจจะเกิดจากพิษสไตรีนให้ปรึกษาแพทย์
สำหรับประชาชนทั่วไป
1.ในระยะนี้ไม่ควรวิ่งออกกำลังกาย จนกว่าได้ข่าวว่าสภาพอากาศดีขึ้น
2.ถ้ามีอาการแสบตา จมูก ปาก หรือคอ ให้เข้าไปในบ้านปิดประตู หน้าต่างเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือถ้าไม่มีเครื่องปรับอากาศให้หลบอยู่ในบ้าน
3.ถ้ามีอาการหอบ ไอ เหนื่อย ให้ไปโรงพยาบาลหรือย้ายไปยังสถานที่ซึ่งปราศจากหมอกควัน
4.ให้สวมหน้ากากอนามัย เวลาออกนอกอาคาร บ้านเรือนตลอดเวลา
5.ในผู้ที่มีอาการหอบหืด โรคถุงสมโป่งพอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือโรคความดันโลหิดสูงมากๆ ถ้ามีอาการหายใจลำบาก ไอมากแสบคอแสบตา หรือแสบจมูก ให้รีบหลบเข้าบ้านเรือน หรือมาที่โรงพยาบาล
6.อาการของกลุ่มอาการพิษสไตรีนคือ ปวด มึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ เกิดจากการได้รับสารพิษเป็นจำนวนมาก
7.ให้ติดตามข่าวสารเรื่องระดับมลพิษอย่างใกล้ชิด
8.ถ้าท่านเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยง คือ เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว หรือกินยาบางอย่าง ให้รีบพบแพทย์ถ้ามีอาการผิดปกติ
9.ผู้ที่สงสัยว่าจะมีอาการที่เกิดควันพิษ ให้ติดต่อรักษาตัวกับแพทย์
ถ้ามีอาการดังกล่าวและกลับไปอยู่ภูมิลำเนา ให้บอกแพทย์ที่ตรวจด้วยว่ามีการสัมผัสสารพิษด้วย สำหรับพิษเรื้อรัง ถ้ามีอาการผิดปกติ และสงสัยว่าอาจจะเกิดจากพิษสไตรีนให้ปรึกษาแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1https://www.thaipost.net/main/detail/108758