หมอพร้อม ผลแล็บก็พร้อม
ปัจจุบันโรคต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เป็นปัญหาต่อการรักษาโรคบางชนิดมากขึ้นตามไปด้วย การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ด้านการแพทย์ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยวินิจฉัยโรค และหาทางป้องกันโรคต่างๆ
เนื่องจากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มีความหลากหลาย เพื่อให้กับการตรวจแต่ละประเภท เช่น จุลชีววิทยา โลหิตวิทยา เคมีคลินิก ฯลฯ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ ที่ตามบริบท ไม่สามารถจัดตั้งห้องปฏิบัติการได้อย่างครบถ้วน จึงจำเป็นต้องใช้การส่งสิ่งส่งตรวจให้ห้องปฏิบัติการภายนอก ทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และแจ้งผลการตรวจดังกล่าวกลับมายังโรงพยาบาล
ดังนั้น หากการส่งผลตรวจที่ส่งตรวจกับห้องปฏิบัติการภายนอก มีความถูกต้องรวดเร็ว จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคโรค และการรักษาที่ถูกต้อง อย่างทันท่วงทีตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม หากผลการตรวจดังกล่าว มีความล่าช้า ไม่ชัดเจน ก็จะส่งผลให้กระบวนการรักษาเกิดความล่าช้ามากยิ่งขึ้น แพทย์ต้องใช้เวลากับผู้ป่วยต่อรายมากขึ้น ผู้ป่วยมีระยะเวลารอคอยมากขึ้น และกระทบถึงการการใช้ทรัพยากรต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างเกินความจำเป็น
โรงพยาบาลค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว เนื่องจากโรงพยาบาลมีขนาด 30 เตียง มีแพทย์ 3 นาย แต่มีผู้ใช้บริการตรวจโรคผู้ป่วยนอกเฉลี่ยเดือนละ 1,200 ราย หากไม่ได้รับรายงานผลตรวจทางห้องปฏิบัติการของผู้ป่วยที่มาตามนัด โดยเฉพาะรายงานจากห้องปฏิบัติการภายนอก ซึ่งมีปริมาณราว 100 ฉบับต่อเดือน ย่อมส่งผลกระทบต่อการรักษา การรอคอย ของผู้ป่วยในภาพรวม
แผนกพยาธิวิทยา โรงพยาบาลค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงได้นำแนวคิด LEAN process หรือการลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นหรือสูญเปล่าในกระบวนการรายงานผลตรวจทางห้องปฏิบัติการของห้องปฏิบัติการภายนอก โดยการวิเคราะห์ขั้นตอนในกระบวนการอย่างละเอียด และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งห้องปฏิบัติการภายนอก บริษัทจัดการระบบสารสนเทศห้องปฏิบัติการ (LIS) และบริษัทจัดการระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการขจัดอุปสรรค ในการส่งต่อข้อมูลทั้งสองระบบ ที่ก่อให้เกิดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ทำให้เกิดแนวทางการปรับปรุงต่างๆ เช่น การเปลี่ยนชนิด และวิธีจัดเก็บไฟล์รายงานผลการตรวจ การปรับวงรอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
จากการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้สามารถลดขั้นตอนในกระบวนการรายงานผลตรวจทางห้องปฏิบัติการของห้องปฏิบัติการภายนอก จาก 8 ขั้นตอน เหลือเพียง 4 ขั้นตอน นอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากขั้นตอนที่ปรับลดได้เช่น การใช้กระดาษในการพิมพ์ผลการตรวจ หรือช่วยให้เกิดฐานข้อมูลที่เป็นระบบ สามารถสืบค้นย้อนหลังได้อย่างสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังส่งผลลัพธ์ต่อคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษา ที่แพทย์ได้รับผลการตรวจอย่างครบถ้วนและชัดเจนมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น ลดระยะเวลารอคอยการเข้าพบแพทย์ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ยังสามารถขยายผลให้ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลอื่นๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 7 โรงพยาบาล ที่ใช้ระบบ LIS เดียวกัน และใช้ห้องปฏิบัติการภายนอกเดียวกัน สามารถนำประโยชน์จากความร่วมมือดังกล่าวไปปรับใช้ได้อีกด้วย