สุขภาพ

img

โรคแทรกติดพัน เมื่อ..ความดันสูง

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่ร่างกายมีค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ โดยมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ค่าความดันโลหิตปกติ ควรน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท เมื่อมีภาวะความดันโลหิตสูง อยู่เป็นเวลานาน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน มีเพียงส่วนน้อยที่จะรู้สาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูง เช่น ไตวาย เนื้องอกของไต มีความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต อย่างไรก็ดี มีปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์ต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ อายุมากกว่า 35 ปี มีพ่อหรือแม่ พี่หรือน้องเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะคนเมืองมากขึ้น เช่น ขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วน ภาวะเครียดเรื้อรัง ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำและรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในระยะแรก จะไม่แสดงอาการ โดยมักมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่นและพบว่ามีความดันโลหิตสูงโดยบังเอิญ ส่วนอาการที่อาจพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงคือ ปวดศีรษะ มึนงง ส่วนใหญ่จะปวดบริเวณท้ายทอย และมักจะเป็นช่วงตอนเช้า ถ้าความดันโลหิตขึ้นสูงมาก หรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะมีอาการคลื่นไส้ ตามัวร่วมด้วย ในบางรายอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่ายเนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนัก เลือดกำเดาออก

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูงเมื่อตรวจพบควรได้รับการรักษาจากแพทย์และต้องปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่การควบคุมอาหาร ควรงดอาหารที่มีรสเค็ม เช่น ไข่เค็ม กะปิ เต้าเจี้ยว หมูเค็ม และรับประทานควรปรุงด้วยเกลือหรือน้ำปลาในปริมาณน้อยที่สุด ลดอาหารมันทุกชนิด และหลีกเลี่ยงไขมันสัตว์ เช่นขาหมู หมูสามชั้น อาหารประเภททอดหรือผัด อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ และควรลดปริมาณอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล หรือผลไม้ที่มีรสหวานลง ที่สำคัญ ควรงดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจเลือกการเดิน วิ่ง ขี่จักรยาน โดยเริ่มจากครั้งละน้อย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนถึง 30-45 นาทีต่อวัน แต่ไม่ควรออกกำลังกายประเภทที่ต้องออกแรงดึงดัน กลั้นหายใจหรือเบ่ง เช่น การชักเย่อ ยกน้ำหนัก วิดพื้น เป็นต้น การออกกำลังกายจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายจากความเครียด และทำให้หัวใจสูบฉีดโลหิตดีขึ้น โดยผู้ป่วยควรทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียดและวิตกกังวล หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้อารมณ์เสีย หงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น อาจฝึกนั่งสมาธิ และนอนหลับให้เพียงพอ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ต้องรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ และมาตรวจวัดความดันโลหิต ตามนัด สำหรับยาลดความดันโลหิต หากทานแล้วพบว่ามีอาการหน้ามืด วิงเวียน อาจเป็นเพราะความดันโลหิตต่ำลงมากเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง อาจหาซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตไว้สำหรับตรวจสอบความดันโลหิตด้วยตนเอง และบันทึกข้อมูล จะเป็นประโยชน์สำหรับแพทย์ผู้รักษา

อัลบั้มภาพ