ข่าวสารพิษ ระบาดกว่า โควิด-19
นายเทดรอส เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กล่าวที่เมืองมิวนิค เยอรมันนี เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ว่า “เราไม่เพียงแต่ต่อสู้กับโรคระบาด (pandemic) แต่เรากำลังต่อสู้กับ “อินโฟเดมิก” infodemic ที่แพร่กระจายได้เร็วว่าเชื้อไวรัสเสียด้วยซ้ำ”
“อินโฟเดมิก” หมายถึงการระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง เกิดจากการรวมคำว่า Information (ข่าวสาร) และ Epidemic (การระบาด) เข้าด้วยกัน ความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร อาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
- ข้อมูลที่ผิด (Misinformation) คือข่าวที่ปลอมแปลงขึ้นหรือเป็นเท็จ แต่ผู้ที่นำมาเผยแพร่เชื่อว่าเป็นความจริง
- ข้อมูลที่บิดเบือน (Disinformation) คือข่าวที่ถูกบิดเบือนและผู้เผยแพร่ทราบว่ามีการบิดเบือน
- ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (Mal-information) คือที่มีพื้นฐานของความจริง แต่ถูกนำมาใช้เพื่อหวังผลต่อบุคคล องค์กร หรือประเทศ
ทั้งนี้ ข่าวในโซเชียลมีเดีย อาจเป็นได้ทั้งข้อมูลที่ผิด (Misinformation) ข้อมูลที่บิดเบือน (Disinformation) หรือข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (Malinformation) เพราะเป็นข้อมูลที่มักไม่ระบุตัวตน
องค์การอนามัยโลก ได้พยายามแก้ปัญหาสำคัญนี้ ร่วมมือกับหลายฝ่าย เช่น Pinterest แพลตฟอร์มสำหรับแชร์ภาพ ให้ระบบลิงก์ไปหน้าและข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อมีผู้ค้นหาคำว่าไวรัสโคโรนา เพื่อช่วยสรุปความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคระบาดนี้ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการในโซเชียลมีเดียรายใหญ่ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เพื่อร่วมกันกำจัดข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 ให้มากที่สุดหรือหมดไปจากไทม์ไลน์ของผู้ใช้ หรือ กูเกิ้ล ที่สร้างระบบเตือน (COVID-19 alert) โดยแสดงแถบสีแดงเมื่อผู้ใช้เข้าไปค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หรือ ยูทูป ที่จะปรากฏกล่องข้อความ (Pop-up) เกี่ยวกับโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก เมื่อผู้ใช้เข้าไปยังหน้าแรก เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อต่อต้านข่าวปลอม ร่วมทั้งจัดทำแคมเปญรณรงค์ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ดี ทุกคนสามารถมีส่วนในการหยุดการแพร่ระบาดของข่าวปลอมต่างๆ ด้วยวิธีการง่ายๆ เมื่อคิดจะแชร์ข่าวใดๆ ดังนี้
- อย่างเพิ่งแชร์ทุกข้อความที่ได้รับในทันที หยุดคิด ไตรตรอง อย่าให้อารมณ์ครอบงำจนอาจเกิดการแชร์ด้วยความวู่วาม
- ดูคอมเม้นต์อื่นๆ ว่ามีใครได้ตรวจสอบความถูกต้อง น่าเชื่อถือ ของข้อความนี้แล้วหรือไม่
- ใช้เครื่องมือค้นหา เช่น กูเกิ้ล ตรวจสอบข่าวดังกล่าว ว่ามีแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เสนอข่าวนี้หรือไม่ หรือหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม จากแพลฟอร์ม ช่องทางอื่นๆ
- สอบถามกลับไปยังผู้ที่แชร์ข่าวมาให้ เพื่อสอบถามต้นตอของข่าว และหลักฐานยืนยัน ตรวจสอบภาพ การสัมภาษณ์ ข้อความ ว่าเป็นปัจจุบันหรือไม่